วิทยาลัยเทคนิคนครปฐมเป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2480 (ในนามโรงเรียนช่างไม้นครปฐม เปลี่ยนขื่อเป็นโรงเรียนการช่างนครปฐมและได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม) ปัจจุบันมีเนื้อที่รวม 35 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม รหัศไปรษณีย์ 73000 โทรศัพท์ 0-3439-5093-5 โทรสาร 0-3428-9635 ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครปฐมประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 52 กิโลเมตร
รัฐบาลได้ประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2475 โดยมีการจัดระบบการศึกษาแบ่งเป็นสามัญศึกษา แยกเป็น ประถมศึกษา 4 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 4 ปี และวิสามัญศึกษา เป็นการศึกษาวิชาชีพ ซึ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น แผนกกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และแผนกช่างฝีมือ ต่อมาแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศเมื่อปี พ.ศ.2479 ได้ปรากฏคำว่า "อาชีวศึกษา"เป็นครั้งแรกในระบบการศึกษาของประเทศไทย แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 2 นี้มีจุดหมายสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น
ปี พ.ศ.2480 กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)โดยกองอาชีวศึกษา ประกาศให้เปิดสอนวิชาช่างไม้ในจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2480 *โดยใช้ชื่อ "โรงเรียนช่างไม้นครปฐม" มีสถานที่ตั้งในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดนครปฐม(หลังเดิม) เปิดสอนหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นต้น วิชาช่างไม้ปลูกสร้าง รับนักเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น เข้าศึกษาต่ออีก 3 ปี และปีพ.ศ.2490 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งบริเวณโรงเรียนทอผ้านครปฐม บริเวณใกล้สำนักงานศาลยุติธรรมประจำภาค 7 ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐมในปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2497 นายประพันธ์ ปานทิพย์ ซึ่งเป็นครูใหญ่ในสมัยนั้น ได้พิจารณาว่าบริเวณที่ตั้งค่อนข้างคับแคบ ไม่เหมาะแก่การขยายการศึกษาในอนาคต จึงดำเนินการขออนุมัติกรมอาชีวศึกษาให้ย้ายโรงเรียนไปตั้งใหม่บริเวณแยกสนามจันทร์(ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ปี พ.ศ.2500 กรมอาชีวศึกษาได้มีคำสั่งเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไม้นครปฐมเป็นโรงเรียนการช่างนครปฐม เปิดสอนวิชาช่างไม้ปลูกสร้าง(ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาช่างก่อสร้าง)และแผนกวิชาช่างตัดผมชายเป็นหลักสูตรระยะสั้น(โดยมีอาคารเรียนอยู่บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ หัวมุมตรงข้ามตลาดโอเดียนในปัจจุบัน)
ปี พ.ศ.2513 กรมอาชีวศึกษา มอบหมายให้โรงเรียนการช่างนครปฐม เปิดการสอนช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และช่างเขื่อม ในโรงเรียนการช่างนครปฐม แต่บริเวณเดิมตั้งอยู่ในเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งไม่เหมาะกับการสร้างอาคารโรงฝึกงานเพื่อขยายแผนกวิชาที่เปิดใหม่และประกอบกับเจ้าของที่ต้องการใช้พื้นที่เพื่อนำไปสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จึงดำเนินการขอใช้ที่ดินของวัดพระประโทนเจดีย์ ในบริเวณติดกับโรงเรียนวัดพระประโทนเจดีย์ ซึ่งเดิมเป็นบริเวณที่ตั้งของแคมป์งานก่อสร้าง ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างของทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ตอน นครชัยศรี-นครปฐม โดยเริ่มจัดสร้างอาคารสถานที่ใหม่ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2515
ปี พ.ศ.2515 มีการรับครูแผนกช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างเชื่อม มีการรับนักเรียน แผนกช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าและช่างเชื่อม ภาคเรียน 2/2515 มีการขนย้ายเครื่องมือ เครื่องจักร ไปติดตั้งยังสถานที่ใหม่โดยทำการย้ายเสร็จสิ้นทั้งหมด เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2515
ปี พ.ศ.2516 เปิดการจัดการเรียนการสอน 4 ช่าง คือช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมและช่างยนต์ ทั้งนี้แผนกช่างตัดผมยังคงเปิดเป็นหลักสูตรระยะสั้นและตั้งอยู่ในวัดประปฐมเจดีย์อย่างเดิม แต่มีผู้เรียนน้อยมากจึงปิดตัวลงในเวลาต่อมา อาคารตัดผมจึงใช้เป็นที่พักของครูซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต่อมาทางวัดพระปฐมเจดีย์ขอพื้นที่คืน จึงได้มีการรื้อถอนอาคารซึ่งเป็นอาคารไม้และนำไปสร้างใหม่เป็นอาคารแถวพักครู 2 ชั้น ในบริเวณที่ดินของวัดพระประโทนเจดีย์ที่ขอใช้ต่อออกไปทางด้านหลังจนถึงคลองพระประโทน
ปี พ.ศ.2519 กรมอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนการช่างนครปฐมยุบรวมกับโรงเรียนการช่างสตรีนครปฐม แต่ยังคงแยกกันอยู่และให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม โดยโรงเรียนการช่างนครปฐม ให้ใช้ชื่อว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาเขต 1 และโรงเรียนการช่างสตรีนครปฐม ให้ใช้ชื่อว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาเขต 2
ปี พ.ศ.2519 เตรียมการเปิดแผนกวิชาช่างกลโรงงาน โดยสร้างอาคารฝึกงานชั้นเดียว บริเวณหลังแผนกช่างก่อสร้างและแผนกช่างยนต์ ให้แผนกช่างไฟฟ้าย้ายเข้าไปใช้ เพื่อให้แผนกช่างกลโรงงานใช้พื้นที่แทน
ปี พ.ศ.2520 เปิดสอนแผนกวิชาช่างกลโรงงาน และสร้างอาคารฝึกงานชั้นเดียวต่อจากอาคารธุรการเดิม บริเวณประตูด้านข้างของวิทยาลัยฯเพื่อรองรับการเปิดแผนกวิชาช่างวิทยุ-โทรคมนาคม และปี พ.ศ.2521 เปิดสอนแผนกวิชาช่างวิทยุ-โทรคมนาคม
ปี พ.ศ.2523 กรมอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งให้แยกทั้งสองวิทยาเขตออกจากกัน และมีการยกสถานะเป็นวิทยาลัยฯโดย วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาเขต 1 เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ใช้ปรัชญาวิทยาลัยว่า"เป็นคนดี มีฝีมือ" และเปลี่ยนเป็น "ประพฤติดี มีวิชา สามัคคี" และได้ปรับอีกครั้งในปี 2565 เป็นประพฤติดี มีวิชา จิตอาสา สามัคคี" วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาเขต 2 เปลี่ยนเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม ดังเช่นปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2524 มีการสร้างอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้นขนาด 20x32 เมตร และให้แผนกวิชาช่างกลโรงงานรับผิดชอบพื้นที่บริเวณ ชั้น 1 และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม อยู่ชั้น 2,3 ปัจจุบันอาคารนี้กำลังเสื่อมสภาพ
ปี พ.ศ.2527 มีการย้ายบ้านพักครู 6 หลังและบ้านพักภารโรง 8 หน่วย 4 หลัง ไปไว้ในที่ดินด้านหลังที่ขอเพิ่มเติมจากวัดพระประโทนเจดีย์ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 9x54 เมตร และได้ก่อสร้างในปีพ.ศ.2528
ปี พ.ศ.2530 มีการสร้างอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้นขนาด 20x52 เมตร สำหรับรองรับแผนกวิชาช่างก่อสร้าง(บริเวณชั้น 1) แผนกวิชาช่างเชื่อม(บริเวณชั้น 2)และแผนกวิชาช่างไฟฟ้า(บริเวณชั้น 3) ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
ปี พ.ศ.2532 สร้างอาคารวิทยบริการ สร้างโรงอาหาร(อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา สำหรับใช้เป็นห้องสมุด ห้องปฏิบัติการทางภาษา และโรงอาหาร)
ปี พ.ศ.2535 สร้างอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้นขนาด 20x52 เมตร สำหรับแผนกวิชาช่างยนต์ แผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม แผนกวิชาเทคนิคพื้นฐานและแผนกวิชาช่างสถาปัตยกรรม และปี พ.ศ.2536 ได้มีการสร้างอาคารเรียน 3 ชั้นสำหรับใช้เป็นอาคารเรียนวิชาสามัญ และแผนกวิชาสถาปัตยกรรม
ปี พ.ศ.2537 สร้างอาคาร 4 ชั้นซึ่งเป็นตึกแผนกวิชาสามัญสัมพันธ์ในปัจจุบัน และปี พ.ศ.2538 มีการสร้างอาคารฝึกงาน 3 ชั้น(อยู่ระหว่างอาคารฝึกงานช่างยนต์ และช่างก่อสร้าง)ชั้น 1 สำหรับแผนกวิชาแม่พิมพ์พลาสติก ชั้น 2-3 สำหรับแผนกวิชาช่างไฟฟ้า(เพิ่มเติม) ปัจจุบันเป็นตึกช่างกลโรงงาน
ประพฤติดี มีวิชา จิตอาสา สามัคคี
ผู้เรียนมีคุณธรรม ก้าวทันเทคโนโลยี ฝีมือดีด้านอาชีพ
วิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาชีพ
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีทักษะ วิชาชีพเป็นเลิศ มีคุณธรรม และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการอาชีวศึกษา ด้วยการบริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Goal)
พันธกิจที่ 1 พัฒนาผู้เรียนให้สำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดี มีจิตสาธารณะ สร้างความตระหนักและจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต
พันธกิจที่ 2 ผลิตผู้สำเร็จการศึกษา ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในยุคดิจิทัล มีทักษะในศตวรรษที่ 21 มีความรู้สากล มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการกำลังคนในยุคไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือจัดการศึกษา
พันธกิจที่ 3 จัดการอาชีวศึกษาศึกษาแก่ทุกคนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการอาชีวศึกษา ด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ทันสมัย ตอบสนอง New-S-Curve การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และระบบประกันคุณภาพโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน
พันธกิจที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทรัพยากร ทุกด้าน อย่างมีธรรมาภิบาล ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและจัดการเรียนรู้ พัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาให้เป็นคนดีสู่สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พันธกิจที่ 1)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ผลิตกำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะเทียบเท่าสากล โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสอดคล้องไทยแลนด์ 4.0 (พันธกิจที่ 2)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ปรับปรุงรายวิชา และจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (พันธกิจที่ 3)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี อย่างสร้างสรรค์ และการประกันคุณภาพโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน(พันธกิจที่ 3)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาสมรรถนะครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ในการจัดการเรียนการสอน การบริหาร และการปฏิบัติงาน(พันธกิจที่ 4)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักธรรมาภิบาล สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (พันธกิจที่ 4)